เจษฎา บัวบาล (23 ตุลาคม 2565)
มีคนตั้งข้อสังเกตว่า สังคมให้อภัยหลวงพี่กาโตะเพราะแกหน้าตาดี อิงกับทฤษฎีที่ว่า โจรหล่อจะได้รับการให้อภัยมากกว่าโจรหน้าตาธรรมดาหรือขี้เหร่ แต่ในที่นี้ผมจะเสนอว่า “ที่กาโตะได้รับการให้อภัยและยังเป็นที่ยอมรับของหลายคน เพราะสำหรับคนเหล่านั้น กาโตะไม่ได้ทำผิดกระทบภาพลักษณ์ของคุณธรรมตั้งแต่ต้น แค่การกระทำนั้นขัดกับจารีตบางอย่าง แต่ภาพความเป็นคนดี ช่วยเหลือสังคม มีความกตัญญู ซึ่งชัดเจนกว่ายังปรากฏอยู่” กล่าวคือ เขาทำผิดแค่ “ปัณณัติวัชชะ” แต่ไม่ผิด “โลกวัชชะ”
ผมเคยเขียนเรื่องโลกวัชชะไว้ในประชาไท แต่เพราะตอนนั้นพยายามดัดจริตเป็นนักวิชาการมากเกิน เนื้อหาเลยอ่านยาก มีคนมาอ้างไปใช้ในบทความอื่นก็อ้างด้วยความเข้าใจผิด จึงอยากอธิบายศัพท์พวกนี้อีกทีแบบง่ายๆ คือ
1. การทำผิดที่ทุกคนแทบจะเห็นเหมือนกันว่าผิด พฤติกรรมนั้นหยาบช้า ส่งผลร้ายต่อสังคม เช่น ฆ่าคน ปล้นชิง ลักทรัพย์ เรียกว่า “โลกวัชชะ” คือ “มีโทษในทางโลก”
2. การทำผิดจารีตที่กลุ่มคนหนึ่งๆ ตั้ง/สมมติขึ้นเองเพื่อใช้ในกลุ่มของตน เช่น กินข้าวตอนเย็นผิดศีล ร้องเพลงผิดศีล ชักว่าวผิดศีล อันนี้เรียกว่า “ปัณณัติวัชชะ” คือ “มีโทษทางกฎศาสนา” (ขี้เกียจใส่อ้างอิงแล้ว โปรดอ่านต้นฉบับในประชาไทคับ)
นั่นคือ ถ้าพระกินเหล้าหรือกินมาม่าตอนกลางคืน แกไม่ได้ทำผิด “โลกวัชชะ” เพราะคนในโลกนี้เขากินเหล้าและมาม่ากันปกติ แต่แกผิด “ปัณณัติวัชชะ” ซึ่งเป็นกฎที่ศาสนาตั้งขึ้นโดยที่แกยอมทำตามด้วยการเข้ามาเป็นพระ แต่แม้จะผิด ก็จับแกสึกไม่ได้ เพราะไม่ใช่โทษปาราชิก คือสังคมไทยจะแปล “โลกวัชชะ” อย่างมักง่ายว่า “ชาวบ้านติเตียน” ก็ต้องให้สึก ถ้าคนติเตียนแล้วต้องสึก พระพุทธเจ้าสมัยพุทธกาลถูกคนด่าเยอะมาก ก็ไม่เห็นว่าจะต้องสึก
ย้ำอีกครั้งว่า โลกวัชชะ แปลว่า มีโทษทางโลกหรือกฎหมายบ้านเมือง ปัณณัติวัชชะ แปลว่า มีโทษทางวินัยสงฆ์หรือกฎศาสนา “ไม่ใช่ชาวบ้านติเตียน ชาวบ้านติเตียน ชาวบ้านติเตียน” คือถ้าจะติเตียน เป็นทำถูกหรือทำผิดก็ติเตียนได้หมดครับ
เเต่แม้จะเเปล “โลกวัชชะ” ว่า ชาวบ้านติเตียน ก็ไม่ใช่การติเตียนทุกกรณีจะสำคัญ ในธรรมบทก็พบว่าพระถูกด่าว่าพวกหัวล้าน (สมณโล้น) พวกขอทานกินเศษเดน ฯลฯ พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สั่งให้พระเปลี่ยนไปไว้ผมยาว หรือให้ไปหุงข้าวกินเอง “คือพุทธจะเเคร์การถูกด่า/ตำหนิ/ติเตียน เป็นพิเศษถ้ามันมาจากคนที่เขาใส่บาตรให้เรากิน (เช่น นางวิสาขา) เพราะต้องรักษาศรัทธาเขา” แต่ถ้าคนด่ามันไม่ใส่บาตรเรา ไม่กราบไหว้เรา ก็เชิญติเตียนตามสบายเลย อาจมีการโต้วาทีกันบ้าง อธิบายบางอย่างกลับไปบ้าง แต่ก็ไม่เอาคำของคนพวกนั้นมาจับสึกพระหรือสึกตัวเอง
คำว่า “โลกวัชชะ” ที่หมายถึงคนติเตียนจึงมีปัญหามาก ยิ่งโลกเปิดกว้างขึ้นจนเราเห็นเรื่องราวของคนอีกฟากโลกหนึ่งได้ เรามักจะชี้หน้าด่าว่าทำแบบนั้นไม่ดี คนไทยจำนวนมากยังด่าพระในอเมริกาว่า ใส่เสื้อแขนยาวเหมือนฆราวาส ขับรถเอง ทำอาหารเอง โดยไม่รู้บริบทการใช้ชีวิตของที่นั่น ในขณะที่ชาวบ้านในอเมริการับได้กับการกระทำแบบนั้น แถมยังบริจาคเงิน/มาทำบุญอยู่เสมอ กรณีแบบนี้ พระที่อเมริกาก็ไม่ต้องปรับตาม(การติเตียนของ)คนในไทยคับ (เพราะเมิงไม่ได้ไปใส่บาตรเขาไง)
กาโตะยอมรับว่ามีเซ็กส์กับผู้หญิงคนนั้นจริง และก็สึกออกมา (บางคนบอกว่า ชิงสึกก่อนที่จะถูกจับสึก แต่อย่างน้อยเขาไม่ได้ถูกจับสึก) ซึ่งก็ให้ภาพของคนยอมรับผิด และกาโตะยังให้สัมภาษณ์ว่า “เพราะเขาอ่อนต่อโลก จึงถูกผู้หญิงหลอกได้ง่าย” บางคนมองว่าเป็นแค่ข้ออ้าง แต่กาโตะไม่เคยโกหกหรือสร้างภาพว่า “ผมไม่เคยมีอะไรกับเขาครับ วันๆ ผมเอาแต่นั่งสมาธิเจริญวิปัสสนา” กาโตะจึงไม่ใช่คนเลวร้าย เขาแค่ผิดพลาดที่ไปมีเซ็กส์กับผู้หญิงเท่านั้น และที่สำคัญคือ เขายอมรับแม้จะตามมาด้วยคำอธิบายแบบเรียกความสงสาร (หรือข้ออ้าง ตามคำที่ชาวคณะทัวร์ว่า)
นั่นคือกาโตะทำผิดต่อ “ปัณณัติวัชชะ” ซึ่งเป็นอาบัติที่ศาสนากำหนดขึ้น ไม่ได้ผิด “โลกวัชชะ” เพราะคนในโลกนี้มีเซ็กส์กันเป็นปกติ ในทัศนะของคนทั่วไป ปัณณัติวัชชะ ไม่ได้สำคัญมากเมื่อเทียบกับโลกวัชชะ สมัยผมเรียนมัธยม พระเณรเกือบทั้งหมดกินข้าวตอนเย็น เล่นฟุตบอล ฯลฯ และชาวบ้านข้างวัดก็รู้ดี ที่น่าสนใจคือ เขาใส่บาตรและนั่งไหว้เราทุกเช้า “นั่นเพราะการผิดปัณณัติวัชชะ ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายกระทบคุณธรรมในสายตาเขา” คือ ชาวบ้านเขามองพระเณรว่าเป็นมนุษย์ แน่นอนว่า ถ้าไปข่มขืนรุมโทรม ลักทรัพย์ ฆ่าคน (เป็นโลกวัชชะ) เขาก็จะรับไม่ได้ เพราะเขาก็รับพฤติกรรมแบบนั้นของมนุษย์ฆราวาสคนอื่นๆ ไม่ได้
กาโตะยังมีภาพของคนทำงานเพื่อศาสนา ดึงคนรุ่นใหม่ให้สนใจธรรมะได้ หรือภาพความกตัญญูสมัยเป็นฆราวาสที่ร้องเพลงเพื่อหาเงินไปช่วยแม่เป็นต้น การมีเซ็กส์ (เป็นปาราชิกตามปัณณัติวัชชะ แต่เป็นการยินยอมของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่การข่มขืน จึงไม่เป็นโลกวัชชะ) อาจดูไม่ค่อยโอเคถ้าเขายังเป็นพระ แต่เมื่อเขายอมสึกออกไปและยอมรับผิด ปัณณัติวัชชะนั้นก็ไม่มีค่าอะไรเลยในสายตาคน เพราะเขาจะตัดสินกาโตะในฐานะมนุษย์ฆราวาสคนหนึ่งที่ออกจากองค์กรศาสนามาแล้ว ซึ่งก็ยังคงเหลือภาพของคุณธรรม ทำเพื่อศาสนาและรักแม่ ดังนั้นการที่คนจะยังรักหรือให้อภัยกาโตะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก .. อาจไม่ใช่เพราะแกหน้าตาดีหรอก
ขอเสริมอีก 2 กรณีคับ
เมื่อก่อนเเถวบ้านผม มี “พระอาจารย์แปลก” เป็นพระเถรวาทที่ไว้หนวดเครายาว (ซึ่งน่าจะผิดวินัยพระ) ท่านมีชื่อเสียงในด้านมีเมตตาช่วยเหลือผู้คนและมีความศักดิ์สิทธิ์มาก เช่นเดินตากฝนก็ไม่เปียก (โดยไม่ต้องกางร่มนะ) ชาวบ้านพูดกันว่าท่านกินเหล้าจนเมาเป็นประจำ ผมไม่ทราบว่าท่านกินเหล้าจริงไหม แต่ประเด็นคือ ชาวบ้านยังรักและศรัทธาท่านมาก นี้เป็นตัวอย่างของการผิด “ปัณณัติวัชชะ” หรือผิดกฎศาสนา แต่ชาวบ้านไม่ได้สนใจ เพราะมันไม่ได้กระทบคุณธรรม เช่นเดียวกับอรหันต์จี้กง แต่ถ้าเมาแล้วตีหมา ด่าชาวบ้าน อันนี้จึงจะกระทบคุณธรรม
อีกกรณีคือ “หลวงพ่อนก” ชาวบ้านเชื่อกันว่าท่านมีเมียเป็นแม่ชี เพราะไปหาทีไรก็มีแม่ชีคนนั้นอยู่ที่กุฏิด้วยเสมอ ท่านมีเมตตาช่วยเหลือคนยากจน พัฒนาวัดให้เจริญ ดึงคนในเมืองมาทำบุญจนบริเวณชุมชนวัดเองก็เจริญขึ้น คนเเถวนั้นมีรายได้มีงานทำเพิ่มขึ้น และแกก็ไม่มีข้อเสียอย่างอื่นนอกจาก (ที่เชื่อกันว่า) มีเมียเป็นแม่ชี เคยมีชาวบ้านกลุ่มเล็กๆ มาประท้วงเพื่อไล่แม่ชีออกไป หลวงพ่อออกมาบอกว่า “ถ้าให้แม่ชีไป ท่านก็จะไปเหมือนกัน” จนชาวบ้านก็เลิกประท้วง
ถ้าหลวงพ่อนกผิด ท่านก็ผิดปัณณัติวัชชะ แม้จะถึงขั้นปาราชิก แต่กรณีนี้ก็สะท้อนว่าชาวบ้านยังรับได้ ลุงสมานเล่าว่า “มีเมียก็เรื่องของท่านสิ ผมไม่เห็นว่าท่านจะสำส่อน ไม่ได้เอาผู้หญิงไปทั่ว ท่านรักและดูเเลเเม่ชีอย่างดี น่ายกย่องด้วยซ้ำ” ความผิดนี้จึงไม่ร้ายแรงในสายตาของคนทั่วไป มันเทียบกันไม่ได้กับภาพของผู้มีคุณธรรมในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ดูแลครอบครัว ช่วยเหลือคนยากจน และในทางศาสนาก็ยังเก่ง คือขยันสวดมนต์ นั่งสมาธิ สอนคุณธรรมจริยธรรมแก่พระเณรและชาวบ้าน
สองกรณีนี้พอจะเป็นตัวอย่างที่ชี้ว่า “โลกวัชชะ” ที่คนไทยแปลว่า “ชาวบ้านติเตียนแล้วต้องจับสึก” เป็นคำที่ไม่ควรใช้อีกต่อไป เพราะเข้าใจความหมายของโลกวัชชะผิด เวลามีคนวิจารณ์ว่า พระมียศศักดิ์ รับเงินเดือนรัฐ ไม่น่าศรัทธาเลย ทำไมไม่มีใครไปจับพระผู้ใหญ่สึกละครับ เห็นยังคับว่าการอ้าง “ชาวโลกติเตียน” มันไม่ยุติธรรม หรือต่อให้พระผิดวินัยจริง ก็เป็นเรื่องของชุมชนนั้นๆ ที่จะจัดการดูแลกันเอง ถ้าเขารับได้และอยากให้มีพระแบบนั้น ก็ให้เป็นเรื่องของเขา ไม่ควรมีองค์กรที่ถืออำนาจรัฐไปจับสึกคนที่ทำต่างไปจากเรา “อำนาจรัฐควรมีไว้จัดการกับโทษทางโลกวัชชะ เช่นฆ่าคน ข่มขืน แบบที่ใช้กับประชาชนทุกคนในรัฐนั้นอย่างเท่าเทียมกัน”
กรณีที่ยกมาทั้งหมดช่วยสะท้อนว่า ในแง่ความรู้สึก คนไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับความผิดทางศาสนา เท่ากับความผิดทางโลก/อาญา แม้ผู้นั้นจะทำผิดกฎศาสนา (ยกเว้นบางข้อที่ศาสนายึดตามทางโลก เช่น ฆ่าคน ก็ให้ผิดปัณณัติวัชชะด้วย) แต่ถ้าเขายังมีภาพของคนมีคุณธรรม ช่วยเหลือคนอื่น ดูแลครอบครัว หรือยังใฝ่ในธรรมะ และยอมรับผิด เขาก็จะได้รับการให้อภัยและยังถูกยกย่องในฐานะมนุษย์ที่มีคุณธรรม ไม่ว่าเขาจะสึกหรือไม่สึกก็ตาม ผมไม่แน่ใจว่า กรอบคิดเรื่อง “โลกวัชชะ/ปัณณัติวัชชะ” นี้จะช่วยอธิบายการตัดสินคุณธรรมแบบไทยได้ไหม
ปล. คำว่า ชาวบ้านหรือคนไทยที่ไม่ได้มองว่าปัณณัติวัชชะจะเลวร้ายกระทบคุณธรรม หมายถึงชาวบ้านทั่วไปที่เข้าวัดบ้างในวันสำคัญ เสพธรรมะผ่านโซเชี่ยวมีเดียบ้าง ไม่ได้หมายถึงคนคลั่งศาสนานะครับ เพราะคนพวกนั้นค่อนข้าง sensitive อยากให้กวาดล้างมุสลิมในภาคใต้ เห็นด้วยกับพม่าที่ฆ่าล้างโรฮิงญา หรือที่เข้มข้นน้อยลงมาก็เช่น อยากให้วัดติดระฆัง/ลำโพงใหญ่ๆ เพื่อได้ยินไปทั้งหมู่บ้าน อยากให้จับพระปาราชิกมาสักหน้าผากประจานเป็นต้น เพราะสำหรับคนเหล่านั้น อัตลักษณ์และความมั่นคงของศาสนาที่ตัวเองจินตนาการสำคัญกว่าทุกอย่างครับ บางทีการแปลโลกวัชชะแปลว่า ชาวบ้านติเตียนแล้วต้องจับสึก น่าจะมาจากคนกลุ่มหลังนี้คับ
Comments
Post a Comment