EP.05 ปาราชิกแล้ว ต้องขาดจากความเป็นพระจริงหรือ?

 

คนอ่านหัวข้อแล้วก็คงคิดว่า “มึงโง่หรือเปล่า ไม่เคยบวชเรียนหรอ ใครปาราชิกก็ต้องขาดจากความเป็นพระ แม้คนอื่นจะไม่รู้ เเต่คนทำย่อมรู้ และวัดกันที่เจตนา” ใช่ครับ ถ้าใครบวชเรียนมา 2-3 ปี จะได้รับข้อมูลแบบนั้น แต่ถ้าเรียนให้นานหน่อย เช่น ปธ.7 หรืออ่านอรรถกถาวินัย จะพบว่า คำตอบแบบด้านบนไม่ถูกต้องคับ
.
วินัย (รวมทั้งของสงฆ์) เป็นกฎเกณฑ์ที่กำหนดขึ้น เพื่อใช้ในการอยู่ร่วมของสังคม ดังนั้นจึงไม่ได้วัดแค่เจตนา เพราะเราไม่รู้เจตนาคนอื่น พูดให้ง่ายคือ เราไม่รู้ว่าเขาคิดอะไรอยู่ ดังนั้นเมื่อเกิดคดีความขึ้น จึงต้องอาศัยการวินิจฉัย มีโจทย์ จำเลย และตัดสินกัน ซึ่งคำตัดสินจะเป็นไปตามความจริงหรือเป็นที่ยอมรับหรือไม่ เป็นอีกเรื่องคับ คือถ้าทำผิดคนเดียว รู้คนเดียว สังคม/สงฆ์ไม่รู้เรื่องด้วยหรือไม่ได้ว่าอะไร แล้วคนผิดจะต้องรับโทษอะไร? จากใคร?
.
การเชื่อว่า ความเป็นพระจะหมดไปเมื่อทำอาบัติปาราชิก เท่ากับเชื่อว่า เวลาบวช ความเป็นพระจะบินเข้ามาสิงในตัวคน และถ้าเขาทำผิด ความเป็นพระจะบินหนีออกไปเหมือนดวงวิญญาณหรอ? (ขอยืมคำพูดพระมหาสัญญา) ไม่ใช่คับ เพราะการบวชพระมันแค่การสมมติ เขาจึงเรียกพระว่า “สมมติสงฆ์” ไง พูดให้ง่ายคือ มึงยังเป็นคนปกติ ที่สงฆ์เห็นร่วมกันว่าให้มึงเข้ามาอยู่ร่วมกับเขาด้วย และสังคมจะปฏิบัติกับมึงอีกแบบหนึ่ง โดยที่มึงหันมาบิณฑบาตเป็นต้นเพื่อเลี้ยงชีวิต
.
นั่นหมายความว่า ถ้ามึงทำผิดร้ายแรง เช่น ปาราชิก (ที่เชื่อกันว่า ขาดจากความเป็นพระ) ภาษาวินัยก็จะบอกว่า ปาราชิโก โหติ อสํวาโส แปลว่า เป็นคนแพ้ (ต่อข้อปฏิบัติของพระ) และไม่มีสังวาส คือ ไม่สามารถอยู่ร่วมกับพระสงฆ์อื่น (ที่ยังไม่ปาราชิก) (วินัยปิฎก มหาวิภังค์ 23) คำถามคือ ถ้าพระคนอื่นยอมรับให้มึงอยู่ต่อ มึงก็ไม่ต้องเป็น อสํวาโส หรือเปล่า? กล่าวคือ ถ้าสังคมสงฆ์ (ต่อให้เรามองว่า สังคมพระปัจจุบันมันเลว) แต่เขารับได้กับพฤติกรรมนั้น แล้วไม่ไล่พระปาราชิกออกไป เขาก็ยังเป็นพระอยู่คับ .. เพราะพระคือการสมมติ หรือยอมรับกันในสังคมสงฆ์นั้นไง ไม่ใช่วิญญาณพระที่บินหนีไปตอนทำผิด คือเเก่นเเท้ของความเป็นพระไม่มีอยู่จริง มันเป็นเรื่องกฎเกณฑ์ของสังคมคับ
.
อีกอย่าง “เจตนามันวัดกันไม่ได้จริง” เพราะเราไม่รู้ใจคนอื่น การตัดสินในพระไตรปิฎกจึงต้องถามเจ้าตัวว่า “ดูก่อนภิกษุ เธอมีเจตนา/ความยินดี ในการร่วมเพศไหม? ถ้าพระตอบว่า มี .. ก็จะถูกตัดสินว่า “ปาราชิก” แต่ถ้าตอบว่า ไม่มี ก็ไม่ต้องปาราชิก คำถามคือ ถ้าเขาโกหกล่ะ? คำตอบคือ ก็กูไม่รู้ไง ไม่ใช่เฉพาะกู ไม่ว่าใครๆ ก็ไม่รู้ เลยต้องยกผลประโยชน์ให้จำเลยคับ เพราะจริงๆ มันอ้างได้หลายเหตุผล เช่น “ตอนเอากันไม่ใช่ตัวผม แต่ผีเข้าสิง” อันนี้ก็ยกผลประโยชน์ให้ได้ว่า พระที่ไม่รู้สึกตัวตอนนั้นไม่ต้องรับโทษ (วินัยปิฎก มหาวิภังค์ 47) .. และไม่เคยมีกรณีที่วินิจฉัยกันว่า “ดูก่อนภิกษุ เธอพูดโกหก เรารู้นะ เพราะเราได้อภิญญา”
.
มีคำที่พระมหาเปรียญเอามาล้อกันว่า “ตราบใดที่ไม่ยอมรับ เราก็จะไม่ปาราชิก” คำนี้ตลก แต่จริงและมีผลทางวินัยสงฆ์คับ คือความเป็นสงฆ์มันไม่ได้สวยงามแบบที่เราจินตนาการอะคับ แต่มันเป็นเผด็จการโดยคนหมู่มาก (ที่อ้างธรรมวินัย หรือไม่อ้างธรรมวินัย ขึ้นอยู่กับกรณี)
.
พระอานนท์เองก็เคยถูกพระอรหันต์สมัยทำสังคายนาปรับอาบัติ เช่น ปล่อยให้ผู้หญิงขึ้นไปไหว้ศพพระพุทธเจ้าก่อน และร้องไห้กันจนศพเปื้อนน้ำตา สุดท้ายอานนท์บอกว่า “ผมไม่เห็นว่าผมจะผิดอะไร แต่ถ้าสงฆ์เห็นว่าผิด งั้นผมก็เคารพสงฆ์ และรับให้เป็นอาบัติทุกกฎ” (อาบัติเบามาก) (วินัยปิฎก จุลวรรค ข้อ662) กรณีนี้สะท้อนว่า สงฆ์มีอำนาจชี้ผิดชี้ถูก ดังนั้น ถ้าสงฆ์จะตัดสินว่า ใครปาราชิก ไม่ปาราชิก ก็มีอำนาจเเบบเดียวกัน .. เพราะวินัยสงฆ์ คือการยอมรับกันของคนในกลุ่มนั้น
.
ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการไม่ทราบเจตนา จึงไม่ทราบว่าเขาโกหกหรือไม่ และต้องปาราชิกไหม จริงๆ แล้ว การตัดสินปาราชิกเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก การเถียงกันเรื่องขโมยของมีค่ามากกว่า 5 มาสก ก็ยังไม่ทราบชัดว่าเท่าไหร่แน่ แล้วจะเอามาเป็นกฎเพื่อจับคนสึกได้อย่างไร
หรือถ้าตีความแบบขั้นต่ำ เช่น 1 บาท .หลายกรณีพระดูจะสุ่มเสี่ยงกับการต้องอาบัติปาราชิกนั้นเหลือเกิน เช่น เอาคอมฯไปลงวินโดส์ใหม่ที่ร้าน จ่ายแค่ 500 บาท โดยไม่ทราบว่า นั่นเป็นวินโดส์ที่มาจากการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่? หรือเปิดดูหนังตาม YouTube ที่มีคนเอามาลงให้ดูฟรีโดยละเมิดลิขสิทธิ์ แทนที่จะไปจ่ายตังค์ผ่าน Netflix การละเมิดลิขสิทธิหรือทรัพย์สินทางปัญญาพวกนี้ก็ได้ได้รับการถกหรือตีความกันอย่างจริงจังในสังคมสงฆ์ แล้วจะเอามาตัดสินให้พระปาราชิก?
.
ผมอยากปิดท้ายด้วยข้อความในอรรถกถา อันนี้สะท้อนว่า การตัดสินปาราชิกไม่ได้ทำง่ายๆ เพราะเจตนาเป็นเรื่องส่วนตัว จึงต้องให้คนทำไปพิสูจน์ตัวเอง และพระที่เก่งเรื่องวินัยควรตัดสินอย่างรอบคอบ หรือแม้จะเห็นว่ามีแววปาราชิก ก็มีทางออกให้ มากกว่าจะรีบตัดสินแล้วจับสึก ลองอ่านนี้ดูคับ
.
“ถ้าปรากฏแต่เพียงเงาแห่งอาบัติปาราชิกแก่ภิกษุหนุ่ม ก็ไม่ควรบอกเธอว่า “ท่านต้องอาบัติปาราชิก” เพราะการเสด็จอุบัติของพระพุทธเจ้าหาได้ยาก บรรพชาและอุปสมบทยิ่งหาได้ยากไปกว่านั้น แต่ควรบอกเธออย่างนี้ว่า “ท่านจงปัดกวาดโอกาสอันสงัด นั่งพักกลางวัน ชําระศีลใฝ่ใจถึงอาการ 32 ก่อน” ถ้าศีลของท่านนั้นไม่เสียหาย กัมมัฏฐานยังสืบต่อ สังขารยังปรากฏชัดเจน จิตก็จะแน่วแน่เหมือนได้บรรลุอุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ เธอย่อมไม่รู้วันที่ล่วงไป เมื่อล่วงไปวันหนึ่ง พึงบอกเธอผู้มาสู่ที่บํารุงอย่างนี้ว่า “จิตของคุณเป็นเช่นไร” เมื่อเธอบอกความเป็นไปแห่งจิต ควรบอกเธอว่า “ชื่อว่าบรรพชา ย่อมมีเพื่อประโยชน์แก่ความบริสุทธิ์แห่งจิต ท่านจงอย่าประมาท
บําเพ็ญสมณธรรมเถิด” (สมันตปาสาทิกา ภาค 1 หน้า 454-455)
.
นี่คือ กรณีที่พระรูปนั้นสำนึกผิดหรืออยู่ในสังคมสงฆ์ที่ดีและมีการวินิจฉัยกันอย่างดี แต่ก็ดังที่บอกไปแล้วว่า ถ้าพระรูปนั้นโกหกขึ้นมาอีกว่า เขาปฏิบัติธรรมแล้วก้าวหน้ามาก เข้าใจการเกิด-ดับ ชัดขึ้นตามกฎไตรลักษณ์ ก็ไม่มีใครทราบอีกเช่นกัน และเขาก็มีสิทธิอยู่กับสงฆ์ต่อไป ปาราชิกจึงเป็นเรื่องที่สงฆ์จะตกลงกันคับ .. ย้ำครั้งสุดท้ายว่า ไม่ใช่เพราะวิญญาณพระบินหนีไป
.
ปล. ผมไม่ได้บอกว่า สังคมพระไทยดีอยู่แล้ว ไม่ควรมีการตรวจสอบ ไม่ต้องหาคนทำผิด ไม่ต้องวิจารณ์พระ ฯลฯ … ผมแค่เสนอว่า การเชื่อว่าพระทำปาราชิกแล้วขาดจากความเป็นพระไปโดยปริยาย เเม้ไม่มีใครเห็น เป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ของวินัยพระคับ
เจษฎา บัวบาล (5 พฤษภาคม 2565)
……………………...
อ้างอิง
วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ข้อ 23
วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ข้อ 47
วินัยปิฎก จุลวรรค ข้อ 662
สมันตปาสาทิกา ภาค 1

 



Comments