EP.15 สาวกไม่ใช่"ผู้เชื่อฟัง" แต่เป็น "ผู้แก้ต่าง" ให้ศาสดา

เจษฎา บัวบาล (9 ตุลาคม 2565)

คัมภีร์ศาสนาที่อ้างว่าบันทึกคำสอนของศาสดาเมื่อพันปีมาเเล้ว จะมีส่วนที่ไม่เข้ากับบริบทสังคมปัจจุบัน เพราะองค์ความรู้ต่างๆ เปลี่ยนไป หลายกรณีศาสนาจึงถูกมองว่างี่เง่า เช่นโลกเเบนในศาสนาสายฮับราฮัม หรือกินผลอินทผาลัมจะป้องกันยาพิษได้ของอิสลาม เป็นต้น สาวกที่พอมีความรู้จึงต้องหันมาทำหน้าที่ปกป้องศาสนา หาคำอธิบายดีดีมาชี้เเจงกัน ศาสนาพุทธก็มีเรื่องทำนองเดียวกันนี้คับ

1. เวสสันดรชาดกถูกวิจารณ์เพราะทำบุญทุ่มตัว บริจาคจนครอบครัวลูกเมียหรือบ้านเมืองเดือดร้อนก็ยอม ขอแค่ให้ตัวเองได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้า นักวิชาการสายพุทธเเท้ (คือพวกอนุรักษ์นิยม) ช่วยเเก้ต่างให้ด้วยการบอกว่า บริบทของสังคมตอนนั้นกับตอนนี้ต่างกัน ตอนนั้นลูกเมียเป็นสมบัติของผัว คือผัวจะยกให้หรือขายให้ใครก็ได้ การทำแบบนั้นจึงไม่ควรถูกตำหนิ .. ตราบที่เขาทำเพราะความรัก (?)

ประเด็นนี้ก็ถูกเถียงกลับไปว่า ถ้าศาสนาขึ้นอยู่กับบริบท เเสดงว่ายอมรับใช่ไหม ว่าจริยธรรมศาสนาไม่ใช่ความจริงสากลที่ไม่เปลี่ยนแปลง เเต่เป็นความเชื่อของชนเผ่าที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ในพื้นที่เเคบๆ และช่วงเวลานั้นๆ ดังนั้นศาสนิกไม่ควรอ้างว่าคำสอนของตนเหมาะกับคนทั้งโลก และเข้ากับทุกศาสตร์ เช่น วิทยาศาสตร์เป็นต้น

อนุรักษ์นิยมอีกพวกพยายามปกป้องพุทธด้วยการบอกว่า พระพุทธเจ้าสอนเรื่องเวสสันดร เพื่อให้สาวกไม่ต้องทำตาม เพราะชาดกเรื่องนั้นเป็นความเชื่อที่ผิด ตอนนั้นเเกยังไม่ได้เป็นพระพุทธเจ้า ย่อมทำถูกบ้าง ผิดบ้าง อย่าถือเป็นสาระ ให้ยึดเอาตอนที่บรรลุเเล้วเป็นแบบอย่าง

เหตุผลนี้ก็พอฟังได้ เพราะคนที่ยังไม่เป็นพุทธะอาจไม่เพอเฟค (ถ้าเชื่อแบบชาวพุทธ) แต่ไม่มีส่วนไหนของคัมภีร์ที่บอกว่า อย่าให้ทำตามเวสสันดร อย่าให้เชื่อเวสสันดร ในทางตรงกันข้าม แม้สมัยที่ยังบำเพ็ญบารมีจะยังไม่ใช่คนที่เพอเฟค เเต่ชาดกเหล่านั้นก็ถูกเอามาสอนในฐานะ (อดีตของคนที่จะเป็น)พระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่ ที่ควรเอาเป็นตัวอย่าง รวมทั้งความกล้าที่จะเสียสละเเบบเวสสันดรด้วย

ถ้าชาดกถูกเอามาสอนว่าอย่าทำตาม งั้นเรื่องมหาชนก ว่าคนเราควรขยันหมั่นเพียรก็จงอย่าทำตาม สมัยเป็นหัวหน้าสัตว์ต่างๆ แล้วใช้ปัญญาช่วยให้ลูกน้องรอดพ้นอันตราย ก็ไม่ควรทำตาม เพราะยังไม่เพอเฟค สรุปก็คือ ชาวพุทธกลุ่มนี้เขาจะเลือกว่าคำสอนตรงไหนพอฟังขึ้นมีเหตุมีผลก็ช่วยกันโปรโมท อันไหนดูตรรกะป่วยหน่อยก็บอกว่า เอามาสอนเพื่อจะได้หลีกเลี่ยง ทั้งที่คัมภีร์ไม่ได้บอกแบบนั้น เเต่บ้างก็ไปไกลถึงขั้นบอกว่า ตรงนั้นตรงนี้พราหมณ์เเต่งใหม่ยัดใส่ปากพระพุทธเจ้าก็มี

ออ .. ยังมีคำอธิบายว่า ที่เวสสันดรบริจาคลูกให้ชูชก เพราะรักลูกมากและวางแผนให้ลูกได้กลับไปอยู่ในวัง คือเพราะรู้ว่า ปู่ย่าต้องมาไถ่ตัวหลานไปแน่ๆ ไม่ยอมให้เป็นทาสรับใช้ชูชกหรอก

อันนี้ก็ถูกเเย้งได้ว่า การทำบุญคือการเสียสละ การวางแผนจัดฉากแบบไม่จริงใจที่ตัวอย่างนี้ว่า ไม่น่าจะเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่ที่จะส่งผลให้คนเป็นพุทธะได้ ประมาณว่า นายดำรู้ว่า ถ้าตนบริจาคเงินหนึ่งเเสน พระราชาจะพอใจ และจะเเต่งตั้งตนและครอบครัวเป็นปุโรหิต ได้เงินเดือนเดือนละแสน การทำแบบนี้น่าจะเรียกว่าเป็นกลอุบายมากกว่า ไม่น่าจะเรียกว่า เสียสละ/บริจาค/ทำบุญหรือบำเพ็ญบารมีได้เต็มปาก

เเต่เดี๋ยวก่อน เพราะการทำบุญเพื่อให้เกิดเป็นพุทธเจ้า ยังเป็นบุญประเภท "สาสวะ" คือ มีกิเลสก็ได้ (เพราะจะนำไปสู่ภพชาติ) ดังนั้นแม้จะวางแผนจัดฉาก / หวังผล ก็อาจใช้ได้/เกิดอานิสงส์เหมือนกัน .. เเต่ถ้าผมเป็นชาวพุทธ ผมคงไม่พอใจกับเหตุผลของการบริจาคลูกแบบนี้เลย มันทำให้ศาสดาของผมดูหัวหมอยังไงไม่รู้ .. มาดูตัวอย่างอื่นกันบ้างดีกว่าคับ

2. ในปุตตมังสสูตร พุทธะบอกว่า กินเนื้อสัตว์ได้ เเต่ไม่ควรยินดีหรือกินเพราะเมามัน ติดในรสชาติ หากแต่กินเพราะต้องฝืนใจ เเละใช้เป็นเครื่องมือให้มีกำลังเดินทางถึงจุดหมาย "เหมือนพ่อแม่ในทางกันดาร ฆ่าลูกแล้วกินเนื้อ ร้องไห้ไปพลางเพราะความรัก แต่จำต้องกินเเละไปให้ถึงเป้าหมาย"

พระสูตรนี้ดูไม่เป็นปัญหาในเเง่ข้อเสนอหลัก คือ "กินอย่างไม่ยึดติดในรสชาติ แต่ให้เน้นไปที่มีพละกำลังพัฒนาตนต่อไปจนบรรลุธรรม" เเต่มาบกพร่องตรงตัวอย่างที่ยกว่า "พ่อแม่ฆ่าลูกกินเนื้อได้" เเละให้กินอย่างไม่ยึดติด

คนที่เห็นความบกพร่องของพระสูตรนี้คนเเรกๆ คือ อรรถกถาจารย์ (ดูใน อรรถกถาปุตตมังสสูตร) เลยช่วยเเก้เนื้อความให้ใหม่ว่า พ่อแม่ไม่ได้ฆ่าลูก เมื่อตกลงกันว่าจะต้องฆ่าลูกกินเนื้อแล้ว พ่อก็บอกลูกตัวเล็กให้เดินไปหาแม่ (เพื่อแม่จะได้เป็นคนฆ่า) แม่ก็ทำไมลง บอกให้เดินไปหาพ่อ พ่อก็ทำไมลง สรุปคือ ลูกเดินไปเดินมาจนเหนื่อยตาย เเล้วพ่อแม่ก็กินเนื้อกันไปพลาง ร้องไห้ไปพลาง

แม้เรื่องเล่าโดยอรรถกถายังดูเศร้าอยู่ เเต่ความผิดในฐานะฆาตกรก็พร่าเลือนลง ไม่รู้ว่าใครเป็นคนฆ่ากันเเน่ จนสาวกต้องรีบด่วนสรุปเอาว่า ลูกตายเองและเขาเเค่กินเนื้อเพื่อให้มีกำลังเดินทางต่อ (ไม่ต้องพูดถึงคนที่ทำให้ลูกตาย)

อรรถกถาจารย์จึงไม่ได้เป็นเเค่คนที่ช่วยอธิบายคำสอนให้เราเข้าใจชัดขึ้นเเบบที่มักกล่าวอ้าง เเต่เขายังทำหน้าที่รักษาภาพลักษณ์ของศาสนา อาจพูดได้ว่า คนที่บิดเบือนคำสอนไม่ใช่คนที่วิจารณ์ศาสนาอย่างตรงไปตรงมา เเต่เป็นพวกที่อ้างว่ารักศาสนา ทำเพื่อปกป้องศาสนา พวกเขามักจะไม่ซื่อตรงต่อเนื้อหาของคัมภีร์และดัดแปลงมานำเสนอให้ดูดีทันสมัยอยู่เสมอ แบบตัวอย่างทั้งหลายที่ว่ามา

สิ่งเหล่านี้ช่วยยืนยันว่า ศาสนาเป็นสิ่งที่ถูกสร้างผ่านเหล่าสาวก/บริบท/องค์ความรู้ในยุคนั้นๆ ไม่ได้เกิดจากการประทานของพระเจ้าผู้รู้ทุกอย่างหรือจากผู้ตรัสรู้เห็นความจริงอย่างสมบูรณ์ และสุดท้าย สาวกเองก็ต้องทำงานหนักในการช่วยเเก้ต่างให้ศาสดา (ไม่ใช่มุ่งศึกษาและปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสัจธรรม) และเพื่อตนเองก็จะได้สบายใจว่า ศาสนาที่ตนเชื่อดีที่สุด เป็นสวากขาตธรรม

เพราะบริบทสังคมเปลี่ยนไป ศาสนาถูกตั้งคำถาม สาวกจึงไม่ได้ทำหน้าที่เเค่ "ผู้ฟัง" คำสอนแล้วเอาไปปฏิบัติ เเต่ยังต้องเป็น "ผู้ตามเเก้ต่าง" ให้ศาสดา เพราะศาสนากลายเป็นอัตลักษณ์ไปแล้ว จะเปลี่ยน/ออกจากศาสนาก็เสียฟอร์ม ศาสนาไม่ใช่ข้อเสนอแบบวิชาการที่เราจะเลือกเชื่อ/เลือกทิ้งบางอย่าง เอาเฉพาะที่เหมาะกับจริตมาพัฒนาตัวเองได้ หากแต่เป็นเเพกเก็ตระบบความเชื่อ ที่กลายเป็นสถาบัน ซึ่งต้องรับเอาทั้งหมด อะไรที่ไม่เห็นด้วยก็เงียบๆ ไว้ หรือถ้ามีความสามารถหน่อยก็ช่วยกันเเก้ต่างให้ด้วย

กระบวนการสร้างให้ศาสนาดูดี มีเหตุผล เข้ากับยุคสมัย ไม่ได้มีเเค่การเลือกนำเสนอ/ตีความคำสอน เเต่ยังเป็นการปฏิรูปพิธีกรรม การเปลี่ยนรูปแบบโครงสร้าง/ศิลปะของศาสนสถาน เป็นต้นด้วย ดูรายละเอียดของเซนในเวียดนาม ในหนังสือนี้คับ

Soucy, A. (2022). Zen Conquests: Buddhist Transformations in Contemporary Vietnam. Honolulu, University of Hawai'i Press.

Comments