ผู้เขียนได้พูดคุยกับ Shinta กะเทยผู้เป็นหัวหน้าปอเนาะ (Pondok Pesantren Waria Al-Fatah) เมืองยอกยาการ์ต้าเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม บทสนทนาได้สะท้อนให้เห็นกรอบคิดเรื่องความหลากหลายทางเพศ อำนาจทางศาสนา และรัฐเผด็จการรวมทั้งกลุ่มนักวิชาการและ NGOที่มีปัญหากับกรอบคิดเรื่องสิทธิมนุษยชน โดยจะสรุปให้เห็นว่า การต่อสู้ที่ไม่ได้วางบนฐานของสิทธิ แต่กลับอ้างวัฒนธรรมชวามาเป็นเครื่องมือ กลายเป็นการต่อสู้เพื่อคนกลุ่มเดียวและเลี่ยงที่จะวิพากษ์โครงสร้างของรัฐ แต่พวกเขาก็ยังจะเลือกแนวทางนั้น อาจเพราะเห็นว่าเป็นวิธีเดียวที่จะได้รับการยอมรับในสังคมเผด็จการ
กะเทยกับพิธีกรรมทางศาสนา
กะเทย หรือ Waria มาจากการผสมของศัพท์ wanita (ผู้หญิง) กับ Pria (ผู้ชาย) หรือผู้หญิงในร่างผู้ชาย Shinta Ratri เป็นหนึ่งในคนสำคัญที่ก่อตั้ง Pondok Pesantren Waria Al-Fatah Yogyakarta ในปี 2006 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 68 คนและพักอยู่ที่นั่นเลยเพียง 8 คน สมาชิกจำนวนมากอายุมากกว่า 55 ปี การที่กะเทยรวมตัวกันเเต่งเป็นผู้หญิงและอาศัย/ทำกิจกรรมร่วมกันในนามของศาสนาอิสลามเป็นเรื่องใหญ่ในสายตาของพวกอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตาม สถานที่แห่งนั้นก็ยังขับเคลื่อนและเติบโตขึ้นโดยการสนับสนุนขององค์กรมุสลิม NU ซึ่งเป็นองค์การที่มีสมาชิกมากที่สุดในอินโด
Shinta เล่าว่า ปกติพวกเธอจะเเต่งตัวเป็นหญิง และเมื่อละหมาดก็จะไปอยู่ข้างหลังรวมกับผู้หญิง เพราะเชื่อว่าตนเป็นผู้หญิง แต่ผู้หญิงคนอื่นๆ เองก็ไม่สะดวกใจ เพราะการละหมาดใกล้กันอาจมีโอกาสที่จะสัมผัสถูกตัวกันและจะทำให้การละหมาดเสียหาย โดยที่ผู้หญิงเหล่านั้นก็ยังมองว่าพวกเธอเป็นผู้ชาย หากจะให้พวกเธอไปอยู่ข้างหน้าร่วมกับผู้ชาย ก็จะมีผู้ชายบางคนรู้สึกแปลกๆ ไม่สะดวกใจที่มีคนแต่งตัวแบบผู้หญิงมาอยู่ข้างๆ ความน่าสนใจคือ พวกเธอกลับไม่มีปัญหากับผู้นำมัสยิด เช่น อิหม่าม อันนี้อาจสะท้อนว่า องค์กรมุสลิมแบบ NU เปิดกว้างในเรื่องแบบนี้ (อย่างน้อยก็มากกว่าสมาชิกที่เป็นชาวบ้าน) และเพศสภาพของพวกเธอก็มีปัญหาเฉพาะช่วงเวลาที่ต้องทำพิธีกรรมทางศาสนาเท่านั้น
ความลำบากอันนี้ บวกกับการเห็นว่าเพื่อนกะเทยหลายคนไม่มีที่พึ่ง ครอบครัวไม่เข้าใจ จึงนำมาสู่การตั้งปอเนาะขึ้นมา เพื่อใช้เป็นที่รองรับกะเทย ไม่ใช่เเค่เพียงเป็นที่อยู่ แต่ยังเป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา อิหม่าม Kiai ชื่อ Hamroli ได้ให้ชื่อภาษาอาหรับว่า ปอเนาะ Al-Fatah ซึ่งแปลว่า “ผู้เปิดประตู” (สู่โอกาส/การทำความดี) หมายถึง ปอเนาะเเห่งนี้เป็นเหมือนโอกาสที่ถูกเปิดให้เเก่กะเทย และอุซตาส Arif Nuh Safri เป็นต้นได้เข้ามาช่วยสอนกุรอานให้ด้วย (Detiknews, 2021) อาจมองได้ว่า องค์กรมุสลิมอย่าง NU ให้การยอมรับกะเทย แต่ก็มีความพยายามที่จะ educate ให้พวกเธอเข้าใจหรืออยู่ในวิถีอิสลามที่ถูกต้องด้วย เราไม่มีโอกาสถามอุซตาสและอิหม่ามเหล่านั้นว่า เขามีความคาดหวังให้กะเทยเหล่านั้นต้องเปลี่ยนเป็นชายหรือไม่
กรอบคิดเรื่องเพศของ Shinta
Shinta ไม่ได้อ้างสิทธิมนุษยชนในการขับเคลื่อนปอเนาะ หากแต่อ้างวัฒนธรรมชวา ที่เชื่อว่า กะเทยมีบทบาทในสังคมมานาน เช่น การร่ายรำ ดังนั้นเพศหรือจิตวิญญาณ (spirit) ไม่ได้มีเเต่หญิงกับชาย เเต่ยังมีกะเทยด้วย เธอย้ำว่า เธอเองรู้สึกว่าเป็นกะเทยตั้งแต่จำความได้ กล่าวคือ (ภายใต้กรอบคิดที่มนุษย์ถูกพระเจ้าสร้าง) เธอก็ถูกสร้างมาให้เป็นกะเทย และมีวิญญาณแบบกะเทย แต่ต่อมาความเป็นเพศกลับถูกลดทอนให้เหลือแค่สองอย่าง เธอเชื่อว่า หากใช้กรอบคิดแบบชวา จะทำให้กะเทยได้รับการยอมรับมากขึ้น
ความน่าสนใจคือ เมื่อถูกถามถึงกลุ่มความหลากหลายทางเพศอื่นๆ ว่ามีอยู่บ้างไหมในปอเนาะแห่งนี้ ได้รับคำตอบว่า “ไม่มี” เพราะที่นี่รับเฉพาะกะเทย (ซึ่งมีเพศสภาพชัดเจน คือเป็นผู้ชายและอยากเป็นหญิงหรือแต่งหญิงเท่านั้น) เธอบอกว่า การต้องรับ LGBTเพศอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วยจะยิ่งลำบากที่จะถูกยอมรับ กะเทยง่ายกว่าเพราะมีในวัฒนธรรมเดิม แต่คนอินโดทั่วไปเชื่อว่า เพศอื่นๆ เป็นอิทธิพลของตะวันตก (ซึ่งอินโดมักปฏิเสธค่านิยมหลายอย่างจากตะวันตก ไม่เฉพาะเรื่อง LGBT แต่ยังรวมเอา เสรีนิยมและรัฐโลกวิสัยเป็นต้นด้วย)
วิธีคิดของ Shinta ยังวางอยู่บนกรอบความเป็นชวา (ที่เธอตีความเอง เพราะที่จริงมีหลากหลายกว่านั้น เช่นกรณีของ Rianto ที่เชื่อว่าความเป็นมนุษย์จะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเรามีทั้งหญิงและชายในคนเดียวกัน แต่เขายังคงเป็นผู้ชายและไม่ได้เรียกร้องให้รัฐต้องยอมรับเพศอันใหม่ (CNN Indonesia, 2019) Shintaไม่ได้มองว่าเพศสภาพมีความหลากหลาย (มากกว่าแค่ 3) อาจเพราะเธอถูกกรอบศาสนาครอบงำผ่านความเชื่อที่ว่า จิตใจ / ความรู้สึกทางเพศ (spirit) ถูกสร้างมาอย่างตายตัว คือเธอเองก็เป็นกะเทยมาตั้งแต่เกิด เพศสภาพจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างผ่านสังคม (socialization) และปรับเปลี่ยนได้ เช่น วันนี้ชอบผู้หญิง พรุ่งนี้ชอบผู้ชาย อีกวันชอบทอม อีกวันชอบกะเทย ฯลฯ คือเพศไม่ได้เป็นความชอบ (sexual preference) แต่เป็นสิ่งที่ถูกให้มาแต่กำเนิด (given) อาจเพราะวิธีคิดแบบนี้ ที่ทำให้เธอเลือกที่จะไม่ต่อสู้เพื่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอื่นๆ แต่เน้นเฉพาะกะเทยเท่านั้น
วิธีต่อสู้กับคนคลั่งศาสนา
วิถีชีวิตคนอินโดทั่วไปไม่ได้มีปัญหากับกะเทย แต่พวกเธอมักถูกบูลลี่และประณามโดยคนเคร่งศาสนาที่มองว่า เพศอื่นนอกจากหญิงกับชายเป็นเพศที่ผิดปกติ และควรได้รับการบำบัด ปอเนาะเคยถูกประท้วงและสั่งให้ปิดโดยกลุ่ม Front Jihad Islam (FJI) ในปี 2016 พวกเธอจึงหยุดการทำกิจกรรมเป็นเวลา 4เดือน (BBC Indonesia, 2016) แต่ก็ยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม NGO และนักจิตวิทยาที่มาช่วยด้านให้คำปรึกษาปัญหาความเครียด นักวิชาการจาก Center for Religious and Cross-cultural Studies (CRCS, UGM) เป็นต้น ซึ่งShinta เชื่อว่า ปอเนาะจะมั่นคงก็ต่อเมื่อได้รับการยอมรับจากรัฐ และมีเครือข่าย/การสนับสนุนที่กว้างมากขึ้น
นักวิชาการ และนักกิจกรรมช่วยปอเนาะของ Shinta ด้วยการเชิญพวกเธอไปเป็นวิทยากรเพื่อให้มีเสียงมากขึ้น และจัดให้มีการพูดคุยเช่น inter-religious dialogue โดยหวังว่า คนที่มาร่วมจากต่างความเชื่อจะเปิดรับกะเทยมากขึ้น นักวิชาการและ NGO ไม่ได้ใช้กรอบคิดเรื่องสิทธิมนุษยชนในการเรียกร้องให้รัฐต้องปกป้องพวกเธอ คือแทนที่จะมองว่า รัฐมีหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองพลเมือง แต่ทางออกคือการต้องปรองดองหรือค่อยๆ สร้างความเข้าใจ จนไม่มีใครมาข่มขู่พวกเธออีก
พูดง่ายๆ คือ NGO และนักวิชาการในอินโดกลัวรัฐบาลและองค์กรศาสนาอย่างมาก พวกเขาจะไม่มองว่าปัญหาเกิดจากการที่รัฐปล่อยปละละเลยให้คนคลั่งศาสนามาข่มขู่คนที่คิดต่าง เปรียบเทียบประมาณว่า ถ้ามีคนขู่ว่าจะทำร้ายหรือเผาบ้านของเรา NGO และนักวิชาการจะบอกให้เราประนีประนอมปิดบ้านไปสักพัก และตนจะช่วยจัดเวที (โดยที่ตนได้รับทุนจากรัฐหรือต่างประเทศ) ให้ร่วมพูดคุยสร้างความเข้าใจกัน ทั้งที่รัฐมีหน้าที่โดยตรงในการคุ้มครองและจัดการกับคนที่ข่มขู่/ทำร้ายเรา แต่รัฐอินโดก็ไม่ได้ทำแบบนั้น การต้องหันมาโปรโมทเรื่อง religious pluralism / inter-religious dialogue โดยหลีกเลี่ยงการวิพากษ์รัฐที่บกพร่องเรื่องสิทธิมนุษยชนและการเลือกปฏิบัติเพราะศาสนา (religious discrimination) เป็นทางออกที่มักถูกใช้โดยนักวิชาการและนักกิจกรรม
ซึ่งแนวทางการเลี่ยงไม่พูดถึงต้นตอปัญหา สะท้อนให้เห็นปัญหาทางศาสนาที่ยังไม่สามารถจัดการได้จนปัจจุบัน นักวิชาการมักใช้กรอบ “minority group” หรือ “indigenous people” ให้กับคนที่ตกเป็นเหยื่อ ขณะเดียวกันก็ Commercialize ความหลากหลายทางชาติพันธุ์/ศาสนา ของอินโดมาเป็นตัวสร้างความน่าสนใจให้กับงานวิจัยหรือเเหล่งทุน คำถามง่ายๆ คือ การต้องช่วยแก้ปัญหาด้วยการเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มศาสนา/ชาติพันธุ์เป็นกรณีๆ ไป โดยไม่พูดถึงสิทธิมนุษยชนและปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐที่ไม่ปฏิบัติต่อคนอย่างเท่าเทียม จะต้องแก้อีกกี่หมื่นกรณีจึงจะหมด
ความสอดคล้องกันของ Shinta และนักกิจกรรมรวมทั้งนักวิชาการ คือการมองปัญหาเป็นเรื่องของกลุ่มคน ไม่ใช่อุดมการณ์รัฐ พวกเขาไม่ได้มองผ่านกรอบความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน เพื่อจะทำให้เกิดการยอมรับหรือได้สิทธิที่เสมอกัน Shinta เลือกที่จะตัดกลุ่มความหลากหลายทางเพศอื่นๆ ทิ้งไปก่อน และสู้เพื่อกะเทยเท่านั้น โดยอ้างวัฒนธรรมชวาและศาสนาอิสลาม แบบที่เธอตีความว่าพระเจ้าสร้างพวกเธอมาให้เป็นเช่นนั้น แต่จะไม่พูดว่า LGBTQ+ อื่นๆ ก็ถูกสร้างมาให้เป็นเช่นนั้น ทำนองเดียวกับ NGO และนักวิชาการก็เลือกที่จะไม่ต่อสู้กับรัฐหรือเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองคนอย่างเท่าเทียมกัน แต่แก้เป็นกรณีไป โดยการโปรโมทและเเช่แข็งอัตลักษณ์ของกลุ่มนั้นๆ การต่อสู้ประเภทนี้ตรงกับชื่อของปอเนาะคือ “ผู้เปิดประตู” แต่เป็นการเปิดแค่บานเดียว หรือเปิดโอกาสให้แก่คนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น
เจษฎา บัวบาล (21 พฤษภาคม 2565)
.............................
อ้างอิง
BBC Indonesia. (2016). Pesantren waria di Yogyakarta ditutup, LBH protes. https://bbc.in/3NvZpCv.
CNN Indonesia. (2019). Rianto, Penari Lengger di Kucumbu Tubuh Indahku. https://bit.ly/3wK1SlI.
Detiknews. (2021). Kisah Shinta, Sosok Pemimpin Pesantren Waria di Yogyakarta. https://bit.ly/38KDZTb.
ที่มาภาพ: IG Shintaratri17 (10 Feb 2017)
Comments
Post a Comment