น่าตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมพระเณรซึ่งเป็นลูกชาวบ้านที่ยากจน แทนที่จะเห็นความทุกข์ยากของคนในสังคมมากกว่า เพราะตนเองก็มาบวชเพราะยากจน บวชแล้วก็บิณฑบาตเลี้ยงชีำพจากคนยากจน แต่กลับหันมารับใช้ศักดินาและต่อต้านประชาธิปไตย กรณีของพระเณรไทยซึ่งมีราว 300,000 รูป แต่ช่วงของการเรียกร้องทางการเมืองในระยะ 3 ปีมานี้ กลับมีพระเณรที่แสดงออกอย่างชัดเจนว่าสนับสนุนประชาธิปไตยอย่างจริงจังในจำนวนแค่หลักสิบ น่าจะเป็นเพราะเหตุผลดังต่อไปนี้
.
ข้อมูลเบื้องต้น: เป็นไปได้ว่า พระเณรที่มาบวชส่วนใหญ่มีฐานะยากจน สมัยผมเป็นพระและอยู่วัดสำนักเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดตรัง (2560) ในจำนวนพระเณรราว 20 รูป ฐานะยากจนและหากไม่บวชก็ไม่มีโอกาสเรียนน่าจะมากถึง 17 รูป อีก 3 รูปแม้ไม่ยากจนแต่ครอบครัวมีปัญหา เช่นต้องอยู่กับยายหรืออยู่ในสังคมยาเสพติด การบวชจึงเป็นทางเลือกหนึ่ง ง่ายๆ คือ ไม่มีพระที่ฐานะทางบ้านพร้อมและอยากบวชเพราะศรัทธาจึงมาเรียนและปฏิบัติให้บรรลุธรรม อาจพูดเผื่อไว้ว่าในวัดอื่นๆ คงมีบ้าง (แต่คงน้อยมาก และผมไม่เคยเจอ)
.
1. คนยิ่งจน ศาสนายิ่งได้ประโยชน์: พระเณรจำนวนมากเป็นผลผลิตของสังคมที่เหลื่อมล้ำ คือหากไม่บวชก็ไม่ได้เรียน แม้รัฐจะให้เรียนฟรี แต่ค่าครองชีพหรือค่าเดินทางไปเรียนก็เป็นอุปสรรคอยู่ดี วัดในฐานะเป็นเเหล่งทุน (ที่ทำบุญ) ของคนในชุมชนก็ช่วยบรรเทาเรื่องนี้ได้ และพระผู้ใหญ่ก็เห็นความเหลื่อมล้ำนี้เป็นโอกาสในการดึงคนมาบวช พระเณรหลายรูปคงเคยได้ยินพระผู้ใหญ่บ่น/ไม่เห็นด้วยกับนโยบายเรียนฟรีด้วยซ้ำ เพราะจะทำให้จำนวนพระเณรลดลง พูดให้ง่ายคือ พระไม่มีวิธีคิดเรื่องการสร้างสังคมให้เท่าเทียมอยู่ก่อนแล้ว ตรงกันข้าม เขามองความยากจนเป็นโอกาสในการเผยเเพร่ศาสนาด้วยซ้ำ
.
2. ชีวิตในวัดที่เหลื่อมล้ำ พระเณรต้องดิ้นรน: ในวัดเองก็เต็มไปด้วยการเเข่งขันและแบ่งพรรคพวก การจัดกิจนิมนต์ซึ่งจะเป็นที่มาของรายได้ในแต่ละวัน ก็มีความซับซ้อนและแบ่งฝ่าย ใครสอบได้นักธรรม/บาลี เป็นมหาเปรียญได้ก็มีโอกาสเข้าถึงญาติโยมคนรวยมากกว่า คนรวยเองก็ชอบสนับสนุนพระที่มีสมณศักดิ์หรือยศตำแหน่งมากกว่าพระเณรธรรมดาทั่วไป มีตัวอย่างจากประสบการณ์ผมอันหนึ่ง
.
มีคนรวยทำอาหารมาถวาย 4 ชุด (ในจำนวนพระราว 10 รูป) ด้วยพรรษาและฐานะมหาเปรียญ ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้รับอาหารนั้น เมื่อรับประเคนและตักใส่จานนิดหน่อย ผมส่งต่อภาชนะนั้นไปให้พระรูปถัดไป ท่านไม่รับ และกระซิบผมว่า “แป๊ปนะครับท่านมหา ให้โยมกลับก่อน เดี๋ยวค่อยส่งต่อ เพราะเขาทำเจาะจงมา เพื่อรักษาศรัทธาเขา วางไว้ตรงนี้แหละคับ” กรณีนี้ก็ยิ่งสะท้อนว่า พระเณรเองก็เข้าใจวิธีคิดและตอบสนองคนรวยพวกนั้นได้ดีเช่นกัน แล้วเราคาดหวังให้ท่านออกมาต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมหรอ?
.
นอกจากการเติบโตผ่านระบอบสมณศักดิ์แล้ว ทางเลือกหนึ่งที่ยังมีคือ อยู่ใกล้คอยรับใช้พระผู้ใหญ่หรือพระที่มีอิทธิพลในการบริหารวัดและจัดกิจนิมนต์ หรือพระนักเทศน์ ก็จะพอมีโอกาสได้ติดตามท่านไปในที่ดีดี ซึ่งหมายถึงบ้านคนรวยและสร้างเครือข่ายกับคนเหล่านั้น แม้จะเป็นพระเณรธรรมดา แต่ก็อาจถูกระบุชื่อในงานนิมนต์ในฐานะที่คุ้นเคยกัน และหากอายุพรรษามากขึ้น อยากไปสร้างวัดในที่อื่น ก็อาจได้กลุ่มโยมคนรวยพวกนี้ตามไปดูแลสนับสนุน ยิ่งบวชกับพระผู้ใหญ่ ก็ยิ่งเพิ่มความสัมพันธ์ผ่านการเป็นอุปัชฌาย์กับสัทธิวิหาริก (อันนี้คืออะไร ช่างมันคับ แต่เป็นเครือข่ายอันหนึ่งที่ช่วยให้การเติบโตในศาสนาได้)
.
การได้เข้าอยู่วัดรวยๆ ในกรุงเทพฯ ก็จะเปลี่ยนชีวิตของพระเณรที่ยากจนให้ดีขึ้นไปอีก เพื่อนผมสมัยเป็นเณร พยายามอย่างมากที่จะอยู่วัดหนึ่ง ซึ่งเป็นอารามหลวงของธรรมยุตให้ได้ แกตั้งใจท่องจำปาฏิโมกข์ (ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของการรับเข้า ควบคู่กับหนังสือฝากจากเจ้าคณะจังหวัด) แต่เมื่อได้เข้าไปอยู่แล้ว ทุกอย่างก็เปลี่ยนไปอย่างมาก วัดมีโยมอุปัฏฐากซึ่งเป็นพ่อแม่อุปถัมภ์ ช่วยจ่ายค่าเทอมและมีเงินถวายรายเดือนเวลามาเยี่ยม ในฐานะที่ท่านมีการศึกษาด้วย ก็จะถูกพระผู้ใหญ่เรียกไปใช้งานและเติบโตในระบอบสมณศักดิ์ได้ง่าย ซึ่งหมายถึงความมั่นคงทางการเงินก็เพิ่มขึ้นด้วย
.
3. แม้ต้องดิ้นรน แต่สังคมพระมีโอกาสเติบโตกว่าทางโลก: โดยสถานะที่พิเศษอยู่แล้ว คนที่พอจะมีความสามารถนิดหน่อยก็มีช่องทางเติบโตได้ดีกว่า เช่น กล้าพูดในที่สาธารณะ (เทศน์) ก็ไม่ต้องมีความรู้มาก อ่านบทความ/คำคมไปกล่าวซ้ำๆ ก็เป็นพระนักเทศน์ได้ ในทางตรงกันข้าม หากเขาเป็นฆราวาสและความความสามารถเเค่นั้น แทบจะไม่มีความหมาย พูดง่ายๆ คือ เขาเติบโตได้เพราะอาศัยระบอบศักดินา
.
ผมเคยตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมพระนักเทศน์ถึงมีแต่พวกอนุรักษ์นิยม ไม่พูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมหรือตั้งคำถามอย่างถอดรากถอนโคน เหตุผลอันหนึ่งคือ เพราะเขาต้องดูคนฟัง และบังเอิญว่าคนที่ศรัทธาศาสนาขั้นเข้าวัด ฟังธรรม ปฏิบัติธรรม ก็เป็นพวกอนุรักษ์นิยมแบบข้อ 2 นั่นเอง พื้นที่แบบนี้คงไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายก้าวหน้าได้เติบโต และเป็นไปได้ว่า ถ้าพระเณรรูปใดก้าวหน้าจริงๆ อาจทนอยู่กับสิ่งแวดล้อมแบบวัดได้ยาก
.
4. พิธีกรรมในวัดมีการแบ่งชนชั้น: ซึ่งหลายคนมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ที่คนรวยบริจาคมากก็ต้องได้นั่งเเถวหน้าสิ หรือเจ้าภาพเสาศาลาตั้นละ 50,000 ก็ควรได้รับการประกาศชื่อผ่านไมค์และติดป้ายจารึกบนเสา ข้าราชการระดับสูงมาก็จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ฯลฯ ก็อาจจะธรรมดาคับ ผมเเค่อยากเสนอว่า สภาพแวดล้อมในวัดมีเต็มไปด้วยการผลิตซ้ำเรื่องราวของชนชั้น และบรรยากาศแบบนี้เองที่อาจช่วยให้พระเณรที่เติบโตมารู้สึกว่า ชนชั้นไม่ได้มีปัญหาอะไร กลับเป็นความยุติธรรมด้วยซ้ำที่ยายแป้นยากจนต้องล้างจานอยู่ในครัว
.
5. คำสอนพุทธเน้นให้เปลี่ยนแปลงที่ตัวเรา ไม่ใช่ระบบ: ไม่ใช่ว่าพระเณรใจดำจนมองไม่เห็นความทุกข์ยากของคนเลย แต่อาจเพราะคำสอนทางศาสนาเองที่เน้นการแก้ปัญหาทางใจ ไม่เสนอเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบ การออกบวชของสิทธัตถะเป็นตัวอย่างแรกที่ทำให้เห็นว่า ทุกข์กายไม่ได้สำคัญเท่ากับทุกข์ใจ ท่านเองไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาทางโลก คือเศรษฐกิจ การเมือง ความเหลื่อมล้ำ ฯลฯ แต่สอนว่า แม้อยู่ในฐานะยากจนก็พ้นทุกข์ทางใจได้ ผ่านข้อปฏิบัติทางพุทธศาสนา
.
การต้องหันมาดูใจ รู้เท่าทันความคิดตัวเอง แก้ที่ตัวเอง ขยันทำงาน ฯลฯ จึงเป็นหลักการคลาสสิคในแบบที่ศาสนาสอน และคำสอนนี้ยังเข้ากันได้ดีกับระบอบศักดินา ไม่ใช่เพราะแค่อ้างเรื่องบุญบารมีที่ทำมาไม่เท่ากัน แต่พุทธยังไปไกลถึงขั้นที่บุญเป็นสิ่งที่สร้างใหม่ในชาตินี้ได้ผ่านความพยายาม แต่ความพยายามนั้นก็ยังเป็นเรื่องปัจเจกอยู่ดี เช่น หากอยากหลุกพ้นจากความทุกข์ทางเศรษฐกิจ ต้องขยันและสอบเป็นข้าราชการให้ได้ หรือทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จให้ได้ ในทางพระ หากอยากพ้นจากการถูกเอาเปรียบในวัด ก็ควรสอบเป็นมหาเปรียญหรือเลื่อนเป็นพระครูให้ได้ การมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและมีเงินมากพอที่จะส่งทางบ้านก็เป็นสิ่งที่พ่อแม่ภาคภูมิใจ
.
พุทธยังเสนอวิธีสร้างสันติสุขในสังคมผ่านการทำความดี (แทนการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอีกเช่นเคย) โดยมอบจริยธรรมให้แก่คนแต่ละกลุ่ม เช่น ถ้าเป็นคนรวยก็ต้องบริจาคช่วยเหลือคนจน เป็นพระราชาก็ต้องปกครองโดยธรรม เป็นภรรยาก็ต้องดูแลการงานในบ้านให้ดีและไม่นอกใจ เป็นต้น
.
ปล. ผมก็เชื่อว่า คำสอนพุทธพอจะตีความให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ เช่น ถ้าพระราชาไม่ทรงธรรม เราจะต้องทำอย่างไร นายจ้างต้องไม่กดขี่ลูกจ้าง (ในหลักการทิศ 6) จะตีความเรื่องเจ้าสัวกับการผูกขาดธุรกิจอย่างไร แต่เพราะไม่มีตัวอย่างการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างในคัมภีร์ ถ้าจะใช้ศาสนาพุทธเป็นตัวผลักดันการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องช่วยกันตีความคัมภีร์พุทธใหม่
.
การเติบโตมาในระบอบศักดินาแบบนี้ ยังส่งผลต่อทัศนคติของพระเณรในหลายเรื่อง เช่น เชื่อว่าศาสนาพุทธจะเติบโตหรือมั่นคง ก็เพราะการสนับสนุนของพระราชาหรือคนรวย (ไม่ใช่คนจนที่ใส่บาตรตัวเองทุกวัน) หากต้องแสดงออกว่าตื่นรู้ทางการเมืองบ้าง ก็จะออกมาเรียกร้องให้ศาสนาพุทธได้สิทธิพิเศษมากกว่าศาสนาอื่น เช่นต้องเป็นศาสนาประจำชาติและได้รับงบประมาณมากที่สุด หรือบาลี ปธ.9 ต้องเท่ากับปริญญาเอก หรือถ้าจะแสดงถึงความรักศาสนา ก็ส่งเสริมให้มีการจับกุม/ลงโทษ คนที่หมิ่นศาสนาผ่านขนม รูปวาด และพวกตั้งตนเป็นเจ้าลัทธิสอนต่างจากพุทธกระเเสหลัก โดยมองผ่านแว่นของความมั่นคงแบบเผด็จการ มากกว่าจะมองว่าเป็นเสรีภาพทางศาสนา
เจษฎา บัวบาล (10 พฤษภาคม 2565
Comments
Post a Comment