เรื่องที่จะเล่านี้เกิดขึ้นช่วงปี 2559 ตอนนั้นผมเป็นพระอยู่วัดบ้านๆ แห่งหนึ่ง นอกจากผม ยังมีพระอีก 2 รูป เรื่องนี้อาจช่วยให้คนที่กลัวผี หายกลัวผีได้มากขึ้น และคนที่ชอบมองว่าพิธีกรรมเป็นเรื่องงมงาย อาจเห็นกระบวนการทำงานของมันได้ชัดขึ้น
ข้างวัดเป็นมหาวิทยาลัย มี นศ.และอาจารย์มาถวายสังฆทานเป็นประจำ หลายครั้งเขาก็สารภาพมาตรงๆ ว่าเพื่อจะอุทิศบุญให้เด็กที่ตนไปทำแท้งมา ผมเป็นพระนักศึกษา จึงมักใช้เวลาในมหาวิทยาลัย การรับสังฆทานจึงเป็นหน้าที่ของพระสองรูปนั้น หลวงพี่แนนเคยอยู่กับอดีตเจ้าอาวาสมาตั้งแต่เป็นเณร (ช่วงปี 2530) และเป็นที่รู้จักกันในนามที่ทำพิธีกรรมได้เข้มขลังกว่า ขณะที่หลวงพี่ตูนเป็นพระบ้านๆ เพิ่งบวชได้ 2 ปี พอจะสอนธรรมะและสวดมนต์ให้พรบททั่วไปได้ ซึ่งก็เพียงพอสำหรับการรับสังฆทาน แต่ไม่พอสำหรับพิธีกรรมพิเศษ เช่น ปลุกเสกพระ แก้คนถูกของ ไล่ผี ฯลฯ
หลวงพี่ตูนเล่าให้ผมฟังถึงเรื่องการทำพิธีแปลกๆ ของหลวงพี่แนน "เดี๋ยวนี้ท่านแนนแกเล่นตุ๊กตาลูกเทพด้วยแล้วนะ ผมเห็นแกทำพิธีปลุกเสกให้โยม งมงายแบบเกาะกระแสจริงๆ"
ก็เป็นเรื่องปกติ ผมจึงไม่เคยถามเรื่องนี้กับหลวงพี่แนน เพราะสำหรับผม ถ้ามองว่าการปลุกเสกตุ๊กตาจะงมงาย การถวายสังฆทานแล้วเชื่อว่าผู้ตายจะได้บุญหรือสอบผ่านก็งมงายคับ แต่หลังจากนั้นไม่นาน หลวงพี่เเนนเล่าเรื่องนี้ให้ผมฟังเอง หลังจากรับสังฆทานจากอาจารย์คนหนึ่ง แล้วเอานมที่ได้มาแบ่งให้ผม
เรื่องมีอยู่ว่า อาจารย์ท่านนั้นเพิ่งไปทำแท้งมา และรู้สึกเหมือนมีผีเด็กติดตามอยู่ตลอดเป็นสัปดาห์ สอบถามจากเพื่อนๆ เขาจึงแนะนำให้ท่านมาปรึกษาหลวงพี่แนน ท่านเลยบอกให้ไปซื้อตุ๊กตาของเล่นมาตัวหนึ่ง โดยระบุราคาไปด้วยว่า ให้เลือกซื้อตัวละ 99 บาทเท่านั้น และยังบอกต่อว่า หากหาราคานี้ไม่ได้ในตลาด เช่นมันราคา 70 บาท ก็ให้ซื้อมาในราคา 99 บาท เพื่อแก้เคล็ด
หลวงพี่เเเนนอธิบายว่า ที่ต้องระบุราคาก็เพื่อให้เขาไม่ต้องซื้อในราคาที่แพงเกินไป เพราะคนที่มีฐานะดี (เช่นเป็นอาจารย์) และอาจเชื่ออยู่ว่า ต้องลงทุนมากจึงจะพ้นกรรม อาจทำให้เขาพร้อมจะจ่าย แต่ถ้าไม่ระบุราคาเลย พิธีกรรมก็ดูไม่มีหลักเกณฑ์ ไม่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่น่าเชื่อถือ และให้ซื้อของอย่างอื่นมาถวายสังฆทานเพื่ออุทิศบุญด้วย เช่น นมกล่อง เพื่อให้น้อง (ผีเด็ก) ได้กิน ซึ่งจริงๆ ก็คือ พระจะใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้ด้วย ดีกว่าเสื้อผ้าเด็ก
หลวงพี่แนนใช้คาถาแปลกๆ ที่ท่องจำมาจากอดีตเจ้าอาวาสในการทำพิธีกรรม แน่นอนว่า ทุกอย่างทำในที่สาธารณะ ที่คนมองเห็นได้ (หลวงพี่ตูนจึงเห็นเหตุการณ์นั้นด้วย) ช่วงท้ายของพิธีกรรม ท่านอธิบายให้อาจารย์ฟังว่า ท่านได้เรียกวิญญาณเด็กที่ติดตามอาจารย์ ให้เข้ามาสิงในตุ๊กตาตัวนี้แล้ว และเขาจะกลายเป็นเด็กวัด อยู่กับพระ
(ผมจำคำพูดท่านเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่ใจความมีว่า) “ต่อไปอาจารย์ไม่ต้องกังวลนะ ทำงานการสอนให้เต็มที่ น้องเขาอยู่กับอาตมาแล้ว อยู่วัดนี่ดีนะ (คงเป็นลักษณะการพูดกับวิญญาณเด็กไปด้วย) บริเวณวัดก็กว้าง วิ่งเล่นได้เต็มที่ พระกวาดขยะ ก็ช่วยพระทำบ้าง พระไปบิณฑบาต ก็ตามไปเดินเล่นด้วย พระสวดมนต์ก็ไปสวดด้วย อยู่วัดจะได้บุญมากกว่า เมื่อมีบุญพอแล้ว ก็จะได้ไปเกิดใหม่ในภพภูมิที่ดี ไม่ต้องห่วงแม่ ปล่อยให้แม่ได้ทำงาน ยังไงแม่ก็มาเยี่ยมหนูบ้างอยู่แล้ว"
จากนั้นท่านก็พรมน้ำมนต์ให้ทั้งสอง (อาจารย์และตุ๊กตา) เมื่ออาจารย์จะกลับ ท่านก็ไปยืนส่ง .. ผมจินตนาการเหตุการณ์นั้นว่า ท่านอาจแสดงให้เห็นว่า ท่านกับวิญญาณเด็กมายืนส่งอาจารย์กลับบ้าน ถ้าท่านไม่ทำแบบนั้น อาจารย์อาจไม่มั่นใจว่าวิญญาณจะแอบหนีพระ ตามตัวเองกลับมาก็ได้
ความน่าสนใจของพิธีกรรมนี้คือ การทำให้ผีซึ่งเป็นนามธรรม กลายเป็นสิ่งที่มองเห็น จับต้องและต่อรองได้ในรูปของตุ๊กตา แต่แน่นอนว่า จำเป็นต้องใช้พิธีกรรมเพื่อให้สอดรับกับจิตใต้สำนึกที่คนเขาเชื่อ และมันได้ผลจริงๆ เพราะอีกสัปดาห์ต่อมา อาจารย์คนนั้นก็ซื้อนมมาถวายพระ และบอกว่าตนไม่เคยเห็นน้องเขาอีกเลย ที่มากไปกว่านั้นคือ พระยังให้กำลังใจว่า "วัดนี้น่าอยู่ น้องเขาคงติดใจที่นี่แหละ เดี๋ยวเขาก็จะไปเกิดแล้ว อาจารย์ตั้งใจทำงานและหมั่นทำบุญต่อไปแล้วกัน"
เรื่องนี้สอนให้ผมรู้ว่า บางทีพระที่ทำพิธีกรรมที่เราดูว่างมงาย เขาก็มีชุดคำอธิบายบางอย่างที่น่าสนใจเหมือนกัน ดูเหมือนเขาเป็นนักจิตวิทยาหรือนักสังคมวิทยาไปด้วย แน่นอนครับ เขาย่อมไม่อธิบายอันนี้ให้ชาวบ้านฟัง มองในแง่ลบก็เพราะอยากจะคุมอำนาจคนทำพิธีกรรมและผลประโยชน์ไว้ แต่ในแง่บวกก็เพื่อเขาจะได้ช่วยเหลือบางคนซึ่งศรัทธาพิธีกรรมได้ เพราะอาจเป็นการเสี่ยงเหมือนกันว่าพิธีกรรมจะให้ผลเต็มร้อยได้ไหม หากคนนั้นอยู่ในภาวะครึ่งๆ กลางๆ คือ ไม่ศรัทธาต่อพิธีกรรมอย่างเต็มที่
เรื่องนี้อาจช่วยให้เราเห็นคุณประโยชน์ของพิธีกรรมที่ทำงานในระดับจิตใต้สำนึก เข้าใจพระที่ทำพิธีกรรมหรือเห็นใจคนที่ต้องถูกผีติดตามแล้วต้องหาทางออกผ่านพิธีกรรมได้มากขึ้นครับ
บทความโดย เจษฎา บัวบาล
เผยเเพร่ครั้งเเรกใน TCIJ.COM
ภาพจาก : http://news.unair.ac.id
Comments
Post a Comment