EP.02 ศาสนาสร้างความเท่าเทียมหรือชนชั้น


พุทธศาสนาสมัยใหม่บางรูปแบบอาจลดความสำคัญของพระลง และให้ความสำคัญกับฆราวาสมากขึ้น การโตขึ้นของกลุ่มฆราวาสจึงสะท้อนการปรับตัวอย่างหนึ่ง มิใช่เป็นเครื่องหมายว่าศาสนาเสื่อม พุทธแบบทิเบตเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน เมื่อไปสู่โลกตะวันตกก็มีการทำให้ศาสนาของตนตอบสนองคนที่ไม่ใช่ทิเบตด้วย (Jacoba and Terrone, 2012) ความพยายามใช้การตีความศาสนาแบบใหม่เพื่อข้ามพ้นความเป็นชาติพันธุ์ แล้วไปรวบคนอื่นเข้ามาเป็นสมาชิก (หรือสังฆะ) ด้วยนี่น่าสนใจ

แต่อย่างไรก็ตาม ในหลายกรณีเรามักพบว่า ความเป็นชนชั้นไม่ได้หายไป เพราะไม่ใช่ว่าเขารับความต่างได้อย่างหลากหลากแบบไม่มีข้อจำกัด กรณีของธรรมกายชัดมาก ธรรมกายมีอัตลักษณ์ใหม่ให้สมาชิก หนึ่งในนั้นคือ ใส่ชุดขาวเหมือนกันซึ่งดูเหมือนเท่าเทียมกัน ตรรกะเดียวกับเด็กใส่ชุดนักเรียนแล้วไม่มีความเหลื่อมล้ำ แต่เจ้าภาพหลักอาจมีเข็มหรือดอกไม้ติดหน้าอกอีกที เพื่อบ่งบอกว่าเขาไม่ได้เป็นชนชั้นเดียวกับคนทั่วไป

การสวมชุดขาวจึงไม่ใช่เครื่องมือสลายชนชั้น หากแต่เป็นอัตลักษณ์ใหม่ที่อย่างน้อยเมื่อถ่ายภาพออกมาจะมีความงามในสีเดียวกัน ความงามในแนวคิดนี้คือ “งามที่เหมือนกัน” ไม่ใช่ “งามแบบแตกต่างกัน” ขณะที่พุทธแบบชาวบ้านจะใส่ผ้าสีอะไรก็ได้ กรณีนี้สะท้อนว่า ศาสนาแบบสมัยใหม่ที่มากับอัตลักษณ์เฉพาะของตน มีความเป็นเผด็จการมากกว่าศาสนาแบบเดิม “เพราะการจัดองค์กรหรือพิธีกรรมที่ละเอียดขึ้น เป็นนิยามหนึ่งของความทันสมัยด้วย” แน่นอนว่าไม่ใช่เฉพาะธรรมกาย แต่อีกหลายกลุ่มศาสนาที่พบได้ทั่วไป

ธรรมกาย (รวมทั้งพุทธอื่นๆ เช่น หมู่บ้านพลัม ฯลฯ) มักปฏิเสธจารีตแบบชาวบ้าน เขารับไม่ได้กับการปล่อยให้คนมาเดินรำวงรอบโบสถ์ แห่กลองยาวกันในวัด เพราะมองว่า “เป็นความไม่เจริญ” หรืออาจ “ไม่เป็นพุทธแท้” เพราะคนมัวหลงกับการเต้นรำตามจังหวะดนตรี เขาจึงกำหนดวิธีใหม่ ให้ผู้ร่วมงานนั่ง (ทำสมาธิ) และพนมมือ ตั้งแถวรอในศาลาทั้งสองฝั่ง เพื่อต้อนรับเจ้าภาพซึ่งเดินตรงกลาง ธรรมกายอาจเปิดเพลง “ดั่งชาวสวรรค์อัญเชิญผ้าไตร” เป็นต้น

การรับไม่ได้กับดนตรีแบบชาวบ้าน แต่ก็ผลิตดนตรีใหม่ของตนขึ้นมาใช้ จะอธิบายว่าเพราะดนตรีของชาวบ้านขัดกับศีลข้อร้องรำทำเพลงก็ฟังไม่ค่อยขึ้นนัก แต่อย่างน้อยมันฟังขึ้นในหมู่ผู้ศรัทธา ที่จริงเหตุที่ต้องเปลี่ยนเพลง เพราะเพลงกลองยาวแบบชาวบ้านเปิดโอกาสให้คนเต้นรำอย่างเสมอภาคกัน ภาพความเป็นผู้มีบุญญาบารมีของเจ้าภาพถูกลบเลือนไป แม้จะเต้นรำอยู่แถวหน้าก็ตาม แต่ไม่มีใครแคร์คุณ เพราะเขาก็มีความสุขในแบบเขา การต้องยกเลิกงานรื่นเริงพวกนั้น ให้เขามานั่งพนมมือต้อนรับคุณ ดูจะให้ภาพที่สมกับมหาเศรษฐีใจบุญได้ดีกว่า


สิ่งเหล่านี้เกิดไปพร้อมๆ กับการสั่งสอนเรื่องคุณธรรม ให้คนยอมรับในความไม่เท่าเทียมกับด้านบุญบารมีซึ่งสะท้อนผ่านชนชั้น และหากใครอยากก้าวมาสู่ตำแหน่งนั้นบ้าง ก็ต้องทำความดีหรือบุญในแบบที่ศาสนานั้นๆ สอนให้มากขึ้น ตรรกะที่ทำให้คนยอมรับความเป็นชนชั้นก็เช่น “ผู้มีคุณธรรมย่อมอ่อนน้อมถ่อมตน” “คนที่อ่อนน้อมเชื่อฟังควรแก่การถูกฝึก” ศาสนาคริสต์ก็มีคำพูดประเภท “การยำเกรงพระเจ้าเป็นที่มาของปัญญา” “อิสลามคือการยอมจำนน” ฯลฯ แน่นอนว่านี่คือการอธิบายง่ายๆ แบบอนุรักษ์นิยม ซึ่งศาสนิกหัวก้าวหน้าไม่เห็นด้วย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า วาทกรรม หรือ วาทธรรม พวกนี้ทำงานอย่างได้ผลในหมู่ผู้ศรัทธาทั่วไป

สรุปคือ ในหลายกรณี ศาสนาในโลกสมัยใหม่อาจไม่ได้ช่วยลดแนวคิดเรื่องความเป็นชนชั้นซึ่งควรจะขับเคลื่อนควบคู่ไปพร้อมกับ “ความเท่าเทียมหรือภราดรภาพ” ในแบบที่ศาสนาทั้งหลายมักกล่าวอ้าง พวกเขาจะมีอุบายที่แยบคายกว่าในการหล่อหลอมให้คนรับแนวคิดผู้มีบารมีและการเชื่อฟัง จึงไม่แปลก หากเราจะไม่เห็นองค์กรศาสนาใหม่ๆ เหล่านี้แสดงออกในทางการเมืองเพื่อช่วยสลายชนชั้น เพราะสมาชิกส่วนหนึ่งที่เข้าไปทำบุญกับเขา ก็เพื่อเข้าไปเสพหรือรักษาภาพ/ความรู้สึกที่เป็นชนชั้นนั่นเอง

บทความโดย เจษฎา บัวบาล

.

อ้างอิง

Jacoba, S. and Terrone, A. (2012). Tibetan and Himalayan Buddhism. In MacMahan, D. (Ed.) Buddhism in The Modern World. (pp. 29-48). New York: Routledge.

ภาพแห่กฐินธรรมกาย ธุดงคสถานอุบลราชธานี จากเว็บไซด์ https://bit.ly/34nLgmK.

ภาพที่สองจากเฟสบุคเพจ Thai Plum Village https://bit.ly/3nwxxS0.

Comments